วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เก๊าไม้ล้านนา

เก๊าไม้ลานนา


อยู่ในเขตติดต่อระหว่างสันป่าตองกะหางดง ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ใครที่ใช้เส้นทางนี้ ก็ลองแวะเวียนได้ มีร้านอาหารอยู่ด้านใน บรรยากาศร่มรื่น ครื้มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ และเล็กสลับกันไป


น้ำต้นกะน้ำบวย

สิ่งที่บ่งบอกความเป็นคนเมือง (คนเหนือ-ผู้เขียน) ณ ที่แห่งนี้ก็คือ น้ำต้นกะน้ำบวย ย้อนเวลาในอดีต ทุกบ้านพอในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อไปดำหัวป้อหลวงแม่หลวง จะมีแบบนี้ ซึ่งมีน้ำบวยเพียงอันเดียว ฉะนั้น ใครดื่มก่อนก็ได้เปรียบก่อนไม่ต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนที่จะต้องใช้อันเดียวกัน เออ ตอนนั้น ทำไมเราถึงไม่เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ประสบการณ์และการเรียนรู้ บางครั้งก็ทำให้เราข้ามกุศโลบายบางอย่างในท้องถิ่นไป


อาคารร้านอาหาร

บ้านเรือนรูปทรงนี้ ในแถบของบ้านผู้เขียน จะไม่พบเห็นในอดีต เข้าใจว่า มีการออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานเพราะด้านบนเป็นห้องโถงโล่งเหมาะสำหรับการจัดกิจกรรมการประชุมหรืออื่น ๆ ด้านล่างเป็นส่วนของร้านอาหาร เลือกมุมโปรดได้ตามชอบใจ ทุกมุมน่านั่งหมด แปลกคือ ที่นี้ไม่พบยุง ทั้งที่เป็นช่วงหน้าฝน


อาคารไฮไลท์ของที่นี้

เป็นโรงแรมที่พัก ซึ่งเป็นโรงบ่มใบยาเก่า มาดัดแปลงเป็นห้องพัก ปล่อยให้ต้นตุ๊กแกจับ ได้อารมณ์แบบธรรมชาติสุด ๆ แต่ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อก่อนมาเห็น ก็จะบอกว่า มันรกและกลัวว่า งูจะช่วยมาทำรังหรืออาศัยอยู่กะคนด้วย โรงบ่มใบยา ก็มีเฉพาะท้องที่ บริเวณพื้นที่อำเภอหรือใกล้ ๆ เป็นแหล่งปลูกยาสูบแหล่งใหญ่ในอดีต ปัจจุบันแถบนี้กลายเป็นสวนลำใยหรือเกษตรเชิงเดี่ยวไปหมดแล้ว และอาคารแบบนี้ก็คงไม่เหมาะที่สำหรับคนที่ไม่ค่อยอยู่ติดบ้านเพราะต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ


ต้นฉำฉาต้นใหญ่

ทั่วทั้งบริเวณ มีต้นฉำฉาขนาดใหญ่เรียงรายโดยรอบ หากเป็นช่วงหน้าร้อนอากาศคงจะเย็นสบายและร่มรืน เผอิญช่วงนี้หน้าฝนเราก็เลยพบอีกบรรยากาศหนึ่งที่ต้นไม้เขียวสดทั่วทั้งบริเวณ แล้วที่แน่ ๆ แหล่งต้นไม้แห่งนี้ในอดีตต้องเป็นต้นที่มีการลงครั่งเป็นแน่แท้ เป็นอุตสาหกรรมที่ย้อนรอยอดีตของผู้เขียน เห็นมาตั้งแต่เล็ก ๆ ต้นฉำฉาแถบใกล้บ้านจะมีคนมาปล่อยครั่ง เมื่อถึงเวลาก็มีคนต่างถิ่นมาเก็บเกี่ยวครั่ง ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่า เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปล่อยครั่งต้นไม้แถบใกล้ ๆ บ้านเราอย่างไร เพราะเป็นที่ว่าง ๆ ไม่มีเจ้าของ ใครมาก่อนก็น่าจะได้ก่อน ไม่ต้องมีการฟ้องร้องเรียกสิทธิ์แก่งแย่งกันเหมือนทุกวันนี้



Text > Photo : Pimporn  Sarichun
August 2013

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น